ก่อนแข่งกีฬาควรตรวจคัดกรองยังไง เพื่อลดการเสียชีวิต

ก่อนแข่งกีฬาควรตรวจคัดกรองยังไง เพื่อลดการเสียชีวิต

มีนักกีฬาหลายท่านมีความกังวลในการออกกำลังกาย ว่าต้องตรวจอะไรบ้าง บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าออกกำลังทำให้เสียชีวิตยิ่งไม่อยากออกกำลัง อยากให้มองภาพรวมเป็นเหมือนปิรามิดนะครับ การออกกำลังกายในฐานใหญ่จะได้ประโยชน์ เกิน 98% ของคนที่ออกกำลังกายได้ประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างตามความหนักและระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละคน

การออกกำลัง ในเชิงเศรษฐกิจทำให้ประเทศได้ประโยชน์ 2 ด้านใหญ่ๆ เพิ่ม GDP ประเทศ และลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข ทั้งสองตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สูงมากเกินคาดหมาย

แต่มีแค่ส่วนปลายของปิรามิด ที่เกิด Paradox (ความย้อนแย้ง) คือ ออกกำลังแล้วเกิดผลเสีย ผลเสียที่เกิดจากการออกกำลังกาย ไม่ได้มาจากการออกกำลังกาย แต่มาจากสองปัจจัยหลักคือ

1.อะไรที่มากไป  เช่น หนักไป มากไป ร้อนไป ผิดวิธีจนเกิดผลเสีย เช่น บาดเจ็บ ขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ขณะออกกำลัง กล้ามเนื้อแตกสลาย Heat stroke  เป็นต้น

2.เสียชีวิตขณะออกกำลังกาย ร่างกายมีโรคประจำตัวแล้วไปออกกำลังกายที่หนักจนทำให้โรคกำเริบหรือปะทุขึ้นมา

ซึ่งตรงกลุ่ม Paradox นี้เป็นกลุ่มที่สมัยก่อนน้อย เพราเรามีกิจกรรมแข่งกีฬาน้อย แต่พอเข้าสู่ยุค Sports boom คนธรรมดาทั่วไปก็ลงแข่งกีฬา เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ไตรกีฬา ฟุตบอล ทำให้กลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้น มีการออกกำลังที่มากขึ้น หนักขึ้น จริงจังขึ้น เราสามารถลดการเกิดผลเสียของการออกกำลังได้ โดยเฉพาะการคัดกรองก่อนแข่งกีฬา

ผมขอแบ่งกลุ่มนี้เป็น  3 กลุ่มนะครับ เพื่อให้เห็นภาพว่า เราอยู่กลุ่มไหน ควรตรวจคัดกรองทางกีฬาไหม และแค่ไหน

1.มีอาการผิดปกติ 3 กลุ่มอาการ

  • ใจสั่น หน้ามืด จะวูบ หรือวูบ
  • จุก เจ็บ หน้าอก
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เช่น เคยขึ้นสะพานลอยได้ ตอนนี้ขึ้นไม่ได้ถึงขนาดหยุดพัก ไม่นับอาการหายใจไม่อิ่มนะครับ ให้ดูการออกกำลังกายเราทำได้ลดลงกว่าที่เคย

กลุ่มนี้มีความเร่งด่วนในการตรวจ จะแข่งกีฬาหรือไม่แข่งกีฬา ต้องพบแพทย์ ตรวจเพิ่มเติมครับ เพื่อตรวจหาโรคที่อาจซ่อนอยู่

2.กลุ่มไม่มีอาการ อายุน้อยกว่า 35 ปี

ถ้าออกกำลังกายปกติ สามารถทำได้เลย อาจไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรอง แต่ถ้าแข่งกีฬา ให้ดีควรตรวจคลื่นหัวใจสัก 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคต่างๆ ดูขนาดหัวใจ

3.กลุ่มไม่มีอาการ  อายุเกิน 35 ปี

ให้ดูตามความเสี่ยงของโรค หลอดเลือดหัวใจครับ

ทำ Thai CV risk score คลิ๊ก

ถ้าแข่งกีฬา คำว่าแข่งกีฬา รวมไปถึงการวิ่ง Fun run ด้วยนะครับ อะไรก็ตามที่เรามีโอกาส ออกกำลังหนักกว่าปกติ นานกว่าปกติ ในสภาวะไม่คุ้นเคย เช่น ทางชัน ร้อน อากาศชื้นมาก ให้ถือว่าเป็นการแข่งกีฬา

แข่งกีฬาควรตรวจคัดกรองทางระบบหัวใจและหลอดเลือด มากน้อย ตามความเสี่ยงที่เรามี และความหนักของการเล่นกีฬาครับ

เครื่องมือที่แพทย์ใช้ตรวจคัดกรอง ได้แก่

1.คลื่นหัวใจ

ทำง่าย เร็ว ราคาถูก ถ้าเจอความผิดปกติ จะช่วยในการค้นหาโรคต่อได้ ดูว่ามีลักษณะหัวใจโตไหม เต้นช้าไหม ช้าเกินไปจนผิดจังหวะหรือไม่ มีหัวใจขาดเลือดไหม เป็นต้น แต่เป็นการตรวจที่หยาบ โรคหลายโรคจะไม่แสดงออกมา จากการตรวจคลื่นหัวใจขณะพัก

2.วิ่งสายพานพร้อมตรวจคลื่นหัวใจ EST

ใช้หลักเดียวกับตรวจคลื่นหัวใจ แต่เราสร้างสถานการณ์ให้หัวใจทำงานหนัก โรคที่ซ่อน อาจเปิดเผยออกมาขณะตรวจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด อาการผิดปกติต่างๆ จะวูบ ความดันต่ำ ความดันสูง หลักสำคัญ คือ ยิ่งออก หนักยิ่งคัดกรองได้มากกว่า

Protocol. ที่ผมชอบใช้ คือ เพิ่มความนานและหนัก อย่างเหมาะสมให้นักกีฬา ไปทำ 100% vo2 max วิ่งในทางราบ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็ว จนนักกีฬาไปต่อไม่ไหว โดยที่กล้ามเนื้อไม่ล้าไปก่อน ส่วนตัวผมจะไม่ใช้ Bruce protocol ที่เป็น Protocol ปกติตรวจสุขภาพ เพราะชันไป และเร็วไป บางคน กล้ามเนื้อล้า ก่อนหัวใจจะไปถึง 100% กลุ่มนักกีฬา ผมจะให้วิ่งนาน และค่อยๆ เพิ่มความหนัก เลียนแบบการแข่งกีฬา ทำให้การกรองโรคทำได้ละเอียดขึ้น

ส่วนการใช้ CPET หรือ VO2 max เข้ามาตรวจด้วย จะช่วยในแง่การกำหนด Zone การออกกำลัง ที่ตรงตามเป้าหมาย การหาจุด Lactate การซ้อม การดูการบีบตัวหัวใจทางอ้อมในแต่ละความหนักการออกกำลัง เพื่อเพิ่มความสำเร็จทางกีฬาและการออกกำลัง

3.คลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

เป็นการตรวจเพื่อเห็นภาพ คล้าย Ultrasound วัดขนาด วัดการบีบตัว คลายตัว ดูลิ้นหัวใจ แต่ไม่ได้ดูเส้นเลือดหัวใจ ใช้ตรวจเพิ่มเติมกรณีสงสัยขนาดหัวใจผิดปกติจากคลื่นหัวใจ เช่น โต หนา สงสัยหัวใจทำงานต่ำกว่าปกติ เช่น เหนื่อยง่าย

4.CT scan เอกเซรย์ คอมพิวเตอร์

ส่วนตัว ผมชอบทำ CT calcium แบบไม่ฉีดสี เพื่อดู คราบไขมัน หินปูน ในหลอดเลือดหัวใจ ในกลุ่มนักกีฬาที่มีความเสี่ยง

ข้อดี คือไม่ต้องฉีดสี ราคาไม่สูง ใช้เวลาไม่นานเกินไป ช่วยในการประเมิน แนะนำ การปรับ lifestyle ความหนักที่เหมาะสมในการออกกำลัง การกินยาไขมัน และยาอื่นๆ รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมต่อไป ในกรณีที่สงสัยมีจุดตีบ

CTA คือการทำ CT แบบฉีด ไอโอดีน เห็นภาพเส้นเลือดหัวใจมากขึ้น จะทำในกรณีสงสัยมากขึ้น หรือ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ไม่มีอาการ เป็นต้น ใช้เวลานานขึ้น ต้องเตรียมตัว เจาะเลือด ก่อนทำ

5.MRI ตรวจ xray คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

เป็นการตรวจจำเพาะมากขึ้น ไม่ทำทุกราย ทำในกรณีสงสัยโรค หรือตรวจหาร่องรอยแผลเป็น เพื่อประเมินความหนักในการออกกำลังกาย จะเห็นว่าการตรวจคัดกรองทางกีฬา เป็นการตรวจเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากการออกกำลัง แข่งกีฬา แต่ไม่สามารถคัดกรองได้ 100% ว่าไม่มีโรคซ่อนแน่นอน ดังนั้นแม้ผ่านการตรวจคัดกรอง นักกีฬาก็ต้องฟังเสียงร่างกายตัวเองเวลาออกกำลังเสมอ เพราะเราอาจมีโรคซ่อนที่ตรวจไม่พบ หรืออาจมีโรคใหม่ที่พึ่งเป็นได้

การตรวจคัดกรองทางกีฬา ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่สาธารณสุขเราจะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทุกคน เพราะงบประมาณต้องใช้ไปในสิ่งที่มีความสำคัญโดยตรงในเรื่องการรักษาพยาบาล ส่วนในกลุ่มประกันชีวิตเท่าที่ทราบน่าจะมีการส่งเสริมบ้างแล้ว เพราะช่วยลด ค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์ และลดการเสียชีวิตจากการออกกำลังครับ

ประชาชนทั่วไป ลองดูว่าเราอยู่ในกลุ่มไหน มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน เราออกกำลังหนักขนาดไหน และควรตรวจเพิ่มเติมไหมนะครับ

สุดท้ายไม่อยากให้กลัวการออกกำลังกายจะทำให้เสียชีวิตนะครับ แต่ให้กลัวการเสียชีวิตจากการไม่ออกกำลังกายมากกว่าครับ

Cr ภาพ พี่อนันต์ อายุ เกิน 65 วิ่งเร็ว แข็งแรงขึ้นทุกวัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า